รศ.ดร.ภญ.อำไพ ปั้นทอง
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลับเชียงใหม่
แรกรู้จักอาจารย์พิเชญฐ์
ดิฉันรู้จักอาจารย์พิเชญฐ์ตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้ว เราพบกันในงานประชุมนานาชาติ ASOMP ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2522 ถ้าเทียบรุ่นแล้ว เราอายุเท่ากัน เรียนมัธยมรุ่นเดียวกัน ดิฉันจบมัธยมที่เชียงใหม่ จากนั้นก็เรียนปริญญาตรีที่คณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและปริญญาโททางเภสัชวิทยาที่เชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดลแล้วไปต่อปริญญาเอกด้านเภสัชวิทยาที่มหาวิทยาลัยบอนน์ ประเทศเยอรมนีส่วนอาจารย์พิเชญฐ์จบจากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ แล้วไปเรียนต่อด้านเคมีที่ออสเตรเลียจนจบปริญญาเอก
เรามารู้จักกันก็เมื่อต่างฝ่ายต่างจบปริญญาเอกมาแล้ว แต่เป็นการรู้จักผ่านฝรั่ง เมื่อดิฉันไปเสนอผลงานในที่ประชุฯ ซึ่งอาจารย์พิเชษฐ์อยู่ในที่นั้นด้วย จำได้ว่าดิฉันได้คุยกับนักวิชาการหลายๆ ชาติ จากสวีเดน ออสเตรเลีย ฯลฯ ทีนี้โปรเฟสเซอร์จากออสเตรเลียสองท่านคือโปรเฟสเซอร์แจค แคนนอน ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาจารย์พิเชษฐ์ กับโปรเฟสเซอร์ดับบลิว. ซี. เทเลอร์ (Prof. W.C. Taylor) ซึ่งรู้จักอาจารย์พิเชษฐ์มาก่อน เลยได้แนะนำกัน นักเคมีเวลาเจอกับคนที่ทดสอบฤทธิ์ของสารนี่เขาจะสนใจ เพราะว่าเมื่อเขาสกัดสารอะไรออกมา เขาก็อยากจะรู้ว่า มันมีฤทธิ์อย่างไร
พอดีทางสวีเดนเขามีทุนให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ชื่อทุน IFS (International Foundation for Science) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้สนับสนุนการประชุมครั้งนั้นตอนนั้นเราต่างจบมาใหม่ ๆเราก็ได้คุยกับตัวแทนของทุน IFS คือ Mr. Bo Gohl ดิฉันขอทุนนี้ อาจารย์พิเชษฐ์เองก็ได้ทุนนี้เช่นกัน หลังจากนั้นเราก็ติดต่อกันเรื่อยมา
ร่วมงานวิจัย
งานวิจัยที่ดิฉันทำนั้นเป็นทางด้านฤทธิ์ต้านการอักเสบ ระงับปวดรักษาอาการโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งอาจารย์พิเชษฐ์บอกว่า เขาทำวิจัยเกี่ยวกับมังคุดอยู่ เขาเล่าให้ฟังว่าทางปักษ์ใต้สามารถใช้มังคุดรักษาการอักเสบของผิวหนัง โดยจะเอาเปลือกแป้งมาฝนแล้วก็ทา ซึ่งน่านำไปทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ ดิฉันบอกเขาให้ส่งมาเลย ทางอาจารย์พิเชษฐ์ทำการสกัดแล้วส่งสาร GM1และสารอื่นในมังคุดมาให้ทางดิฉันทดสอบ ซึ่งดิฉันได้ให้นักศึกษาปริญญาโทของดิฉันทำเป็นงานวิทยานิพนธ์
ช่วงเริ่มทำวิจัยกันอย่างจริงจัง น่าจะประมาณปี พ.ศ. 2524-2525 ดิฉันทดสอบฤทธิ์ระงับปวด ต้านการอักเสบ บรรเทาอาการโรครูมาตอยด์ และดูว่ามีฤทธิ์ลดไข้ได้ไหม ฯลฯ ผลปรากฏว่า ฤทธิ์ระงับปวด ต้านการอักเสบดีมากๆ ดีกว่าแอสไพริน ซึ่งเราใช้เป็นยามาตรฐานถึงสามเท่า เทียบแล้วฤทธิ์ของ GM1 100 มิลลิกรัม เท่ากับแอสไพริน 300 มิลลิกรัม
ในขณะเดียวกัน เราได้ทดสอบความเป็นพิษด้วย ลองให้หนูขาวกินในปริมาณมากๆ คือ 3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว หรือ 30 เท่าของที่ออกฤทธิ์ระงับปวด ต้านการอักเสบในคน เราใช้ปริมาณสูงขนาดนี้เพราะการเผาผลาญอาหารหรือ Metabolism ของหนูขาวจะสูงกว่าคนประมาณ 30 เท่า เหตุผลอีกข้อหนึ่งคือ ตามข้อกำหนดของ WHO กับ OECD Guideline ที่สดสอบเกี่ยวกับความเป็นพิษของสาร ให้เริ่มต้นที่ 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ถ้ากินแล้วไม่เกิดอะไรขึ้นกับหนูขาว ก็ถือว่าสารนั้นค่อนข้างปลอดภัย ผลการทดสอบของเราปรากฏว่า หนูซึมนิดหน่อย เหมือนกับมันง่วงนอน แต่อย่างอื่นไม่มีอะไรผิดปกติ และเมื่อเปิดดูอวัยวะภายในก็ไม่มีอะไรผิดปกติ ซึ่งทำให้เราค่อนข้างแน่ใจว่า GM1 มีความปลอดภัยสูง
พร้อมๆ กับที่ดิฉันกำลังทดลองเรื่องฤทธิ์ต้านการอักเสบของมังคุดทางอาจารย์พิเชษฐ์ได้ทดสอบด้านอื่น ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นไปด้วยและพบว่ามังคุดยังมีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียได้ แก้แพ้ได้ มีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ และต้านเชื้อมะเร็งในหลอดทดลองได้
เมื่อเราเริ่มทำงานร่วมกัน ขณะนั้นอาจารย์พิเชษฐ์ยังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนดิฉันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราทำงานด้วยการที่ดิฉันใช้วิธีเขียนจดหมายไปถึงเป็นส่วนใหญ่ เพราะตอนนั้นโทรศัพท์มือถือยังไม่มี อีเมลยังไม่มี ส่วนอาจารย์พิเชษฐ์จะนั่งเครื่องบินไปมา ระหว่างสงขลา-เชียงใหม่
จากนั้นอาจารย์พิเชษฐ์ทดลองทำสารสกัดจากมังคุดออกมาในรูปเครื่องสำอาง เพราะเรารู้ว่าถ้าจะทำเป็นยา ค่อนข้างยาก ต้องลงทุนสูงมากแล้วยังจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ อีกมากมาย ภายในสิบปีคงออกมาเป็นยาไม่ได้ ขนาดพวกฝรั่งเขายังใช้เวลาเป็นสิบปีทั้งๆ ที่มีเครื่องมือพร้อม เงินพร้อมแล้วของเราอะไรๆ ก็ยังไม่พร้อมสักอย่าง อาจารย์พิเชษฐ์จึงคิดทำออกมาในรูปเครื่องสำอางอย่างเดียว
เมื่ออาจารย์พิเชษฐ์ย้ายขึ้นมาอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น เราได้ทุนทำวิจัยร่วมกัน จาก IDRC ของแคนาดา เราทำงานทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดต่าง ๆ ด้วยกัน แล้วอาจารย์พิเชษฐ์ก็ลาออกไปทำเอเชียนไลฟ์
ร่วมทีมพัฒนา
ส่วนการมาร่วมทีมทำงานด้วยกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่งนั้น เกิดขึ้นจากคราวหนึ่ง ดิฉันต้องไปประชุมที่พัทยาในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2550 ก่อนไป ยังคิดอยู่ว่าถ้าลงเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้วจะเดินทางต่อไปพัทยาอย่างไร เผอิญได้คุยกับ รศ. ดร.ศิริวรรณ องค์ไชย(แย้มนิยม) ซึ่งอยู่ภาควิชาชีวเคมี เขาจะไปประชุมเหมือนกัน แต่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ ล่วงหน้าก่อน แล้วน้องสาวจะขับรถไปส่งถึงพัทยา ดิฉันขอให้เขาแวะรับไปด้วย อาจารย์ศิริวรรณตกลง ระหว่างทางช่วงนั่งไปในรถเราได้คุยกัน อาจารย์ศิริวรรณเล่าว่าตอนนี้ทำวิจัยเรื่องฤทธิ์ปกป้องกระดูกอ่อนหรือป้องกันข้อเสื่อม กำลังอยากได้สารอะไรที่มันเจ๋งๆ สามรรถป้องกันโรคข้ออักเสบได้ แก้ปวดได้ ดิฉันนึกถึงอาจารย์พิเชษฐ์ทันที จึงบอกอาจารย์ศิริวรรณว่า รู้จักคนทำสารตัวหนึ่งที่มีฤทธิ์ดีมากๆ เดี๋ยวจะติดต่อให้ แล้วดิฉันก็โทรหาอาจารย์พิเชษฐ์ ซึ่งอาจารย์ยินดี ที่จะให้อาจารย์ศิริวรรณเอาสาร GM1 ไปทดสอบ
พออาจารย์ศิริวรรณกลับไปที่ภาควิชาก็ได้เล่าให้ รศ. ดร.ปรัชญา คงทวีเลิศ ฟัง อาจารย์ปรัชญาโทรศัพท์มาคุยกับดิฉันว่า อยากติดต่ออาจารย์พิเชษฐ์ ดิฉันจึงช่วยประสานให้ ทำให้ดิฉันกับอาจารย์พิเชษฐ์ได้กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง
แล้วเราก็นัดไปเจอกันที่บ้านอาจารย์พิเชษฐ์ นัดคุยนัดดื่มไวน์กันหลายหนคุยกันว่าเราจะทำอะไรต่อได้บ้าง สมมุติว่า ถ้าอาจารย์ศิริวรรณกับอาจารย์ปรัชญาเอาไปทดสอบฤทธิ์ปกป้องกระดูกอ่อน แล้วได้ผล คงเป็นเรื่องดีมาก ๆ เพราะคนที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์นั้น กระดูกจะเสื่อมไปเรื่อย ๆ ถ้าเราปกป้องกระดูกอ่อนได้ ก็ใช้ในโรคข้อเสื่อมได้ด้วย คนปกติพออายุ 50 ขึ้นไปข้อจะเสื่อมทุกคน แล้วยาที่นำเข้ามามีราคาค่อนข้างแพง มีฤทธิ์ข้างเคียงอีกมาก เรานึกกันถึงสารสกัดจากมังคุดของอาจารย์พิเชษฐ์ ที่เป็นอาหาร ก็น่าจะดี
ปรากฏว่าเมื่ออาจารย์ปรัชญากับอาจารย์ศิริวรรณเอาสาร GM1 ไปทดสอบ โอ้โห มันเจ๋งมาก มีฤทธิ์ปกป้องกระดูกอ่อนได้ดีมาก เขาก็ศึกษากันไปถึงว่า กลไกมันเป็นอย่างไร ออกฤทธิ์ได้อย่าไร ฯลฯ
อาจารย์พิเชษฐ์เกิดความคิดว่า จากนี้ เราจะต้องทำผลิตภัณฑ์ในรูป “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” เพื่อช่วยคนที่ปวดข้อ เพราะมันเป็นอาหารอยู่แล้วอาจารย์พิเชษฐ์เขาเก่งนะ ยอมรับนับถือเขาอยู่ว่า เขาสามารถคิดสูตรขึ้นมาได้เอาตัวนี้ผสมตัวนั้นแล้วทำให้ฤทธิ์เพิ่มขึ้น มีทั้ง บัวบก ฝรั่ง ถั่วเหลือง งาดำสารจากมังคุด ฯลฯ สูตรพวกนี้ดิฉันไม่รู้ อาจารย์พิเชษ,รู้คนเดียว เพราะตรงจุดนี้เป็นเรื่องทางบริษัทของเขา เมื่อทำออกมาสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ขายตรงใครๆ ก็กินได้หมดเพื่อเสริมสุขภาพ เพราะอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
เมื่อคนขายตรงเขาเอาไปขายเพื่อเสริมสุขภาพ ผลที่ตอบกลับมามากคือ คนเป็นเบาหวานน้ำตาลลด คนเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดข้อ ปวดกระดูก ที่เคยต้องกินสเตียรอยด์ สามารถลดปริมาณและหยุดสเตียรอยด์ได้ในที่สุด คนเป็นโรคเรื้อนกวางหรือโรคสะเก็ดเงิน มีอาการดีขึ้นคนที่คลอเรสเตอรอลสูงไขมันก็ลดลง คนเป็นภูมิแพ้ต่าง ๆ กลับหายได้ คนเป็นมะเร็งเอาไปกิน ปรากฏว่าอาการต่าง ๆของมะเร็งลดลง ฯลฯ คนเป็นโรคต่างๆ กินแล้วมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น นั่นกลายเป็นว่า เหมือนกับเราได้ทำการทดลองในคนไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งอันนี้ก่อให้เกิดปัญหาและข้อสงสัยตามมาว่า เอ๊ะ ทำไมถึงใช้ได้ดีกับหลายโรค
อาจารย์พิเชษฐ์กับอาจารย์ปรัชญาเขาคุยกันว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันแล้วล่ะ จึงให้อาจารย์ปรัชญาเอาไปทดลองตรวจเช็คให้ห้องแล็บ ผลคือเราพบว่าสารสกัดจากมังคุดสามารถช่วยปรับสภาพภูมิคุ้มกันให้เกิดสภาวะสมดุล เพราะคนที่เกิดโรคทั้งหลายภาวะภูมิคุ้มกันจะบกพร่อง ไม่อยู่ในสภาพสมดุล อาจมากหรือน้อยเกินไป หรือมีการทำงานอะไรที่บกพร่องสักอย่างแล้ว GM1 สารสกัดจากมังคุดตัวนี้ จะเข้าไปทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันสมดุลพอร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันสมดุล ร่างกายจะสามารถจัดการได้ทุกปัญหาเพราะระบบภูมิคุ้มกันเป็นระบบที่ป้องกันร่างกาย นั่นคือเข้าไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาโดยตรง
อาจารย์ปรัชญามักเปรียบเทียบให้ฟังว่า เหมือนการเปิดก๊อกน้ำลงพื้น แล้วเรามัวแต่ไปเช็ดพื้น ซึ่งเช็ดเท่าไรก็ไม่แห้งสักทีเพราะน้ำยังไหลไม่หยุดแต่เมื่อใช้ GM1 จะเหมือนเราไปหรี่ก๊อกน้ำให้เบาลงทีละนิดๆ จนปิดสนิทเพราะฉะนั้นพื้นถึงแห้งได้ นี่เป็นข้อเปรียบเทียบที่ดีมากๆ จากตรงนี้ ทำให้เราได้รู้ว่าเป็นเพราะอะไรผลิตภัณฑ์จาก GM1 ถึงสามารถใช้ได้กับทุกอาการ
ทีมวิจัยที่ร่วมงานกันมีอยู่หกคน คืออาจารย์พิเชญฐ์ วิริยะจิตรา อาจารย์ปรัชญา คงทวีเลิศ อาจารย์ศิริวรรณ องค์ไชย(แย้มนิยม) อาจารย์วิลาวัลย์ มหาบุษราคัม อาจารย์เสาวลักษณ์ แล้วก็ดิฉัน แต่ละคนช่วยเสริมกัน อย่างทางปักษ์ใต้มีอาจารย์วิลาวัลย์ ซึ่งทำวิจัยเรื่องมังคุดมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาปริญญาโท ถือเป็นคนแรกที่ทำงานมากับอาจารย์พิเชษฐ์ จากนั้นอาจารย์เสาวลักษณ์ก็เอาสารสกัดมังคุดมาทดสอบ Antibacterial และได้รู้ว่าโอ้...มันมีฤทธิ์แก้สิวได้ คุณภาพในการฆ่าเชื้อก็เทียบเท่ายาปฏิชีวนะที่แพงที่สุดคือ แวนโคไมซิน ส่วนทางดิฉันเอามาทดสอบเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านการอักเสบ ระงับปวด ลดไข้ ตอนหลังอาจารย์ปรัชญามาทดสอบเรื่องภูมิคุ้มกันทางอาจารย์ศิริวรรณทำด้านฤทธิ์ปกป้องกระดูกอ่อน จากนั้นดิฉันไปทำการทดสอบในลูกค้าที่เป็นโรคปวดข้อ ปวดหลัง เป็นโรคกระเพาะ และอยากใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา ต่อให้อีก
สูตรผสม GM1 กับพืชผักผลไม้
จริงๆ แล้วงานที่ดิฉันทำ จะเป็นการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาทั้งหมด แต่เน้นไปในทางฤทธิ์ระงับปวดและต้านการอักเสบ รวมทั้งที่เรียกว่า แอนตี้อะไทรทิส นั่นคือเกี่ยวกับข้ออักเสบ ดิฉันได้สาร GM1 มาเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว เอามาทดสอบฤทธิ์ที่ว่านี้ รวมถึงทดสอบความเป็นพิษด้วยอาจารย์พิเชษฐ์เคยพูดว่า ดิฉันเคยให้หนูกินสาร GM1 ขนาด 3,000 มิลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ทำให้หนูซึมได้ ถ้าให้หนูขาวกินในปริมาณมาก ติดต่อนานๆ อาจมีผลต่อระบบประสาท อาจกดระบบประสาทได้นิดหน่อย แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าในคนจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมอาจารย์พิเชษฐ์ถึงนำสาร GM1 มาเพียงนิดเดียว แล้วผสมพืชกับผลไม้ไทยอื่นๆ รวมเป็นห้าชนิด เป็นสูตรเฉพาะซึ่งเราได้ทดสอบพบว่า มันเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน ทำให้มีฤทธิ์เพิ่มมากขึ้น
สูตรที่เอาผักผลไม้ห้าชนิดมาผสมกันนี้ อาจารย์พิเชญฐ์คิดขึ้นเอง ซึ่งอาจารย์คงจะดูจากงานวิจัยต่างๆ ว่า พืชแต่ละชนิดมีคุณสมบัติอะไรบ้าง พืชที่เอาเข้ามาได้แก่ ใบบัวบก ซึ่งมีฤทธิ์สารพัด ตั้งแต่ต้านมะเร็ง ยับยั้งอนุมูลอิสระ ฯลฯ ถั่งเหลืองให้โปรตีน ให้ไฟโตเอสโตรเจน สารทุกตัวจะมีไบโอฟลาวานอย ซึ่งไบโอฟลาวานอยนี้มีฤทธิ์หลากหลาย แล้วก็มีผลฝรั่งซึ่งมีไบโอฟลาวานอย มีพวกเคอร์ซิตินซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีวิตามินซีซึ่งมีฤทธิ์เป็น antioxidant คือยับยั้งอนุมูลอิสระ อีกตัวคืองาดำที่มีสารเซซามินซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์หากหลาย เหมือนกับสาร GM1 แต่เวลาเปรียบเทียบแต่ละฤทธิ์แล้ว จะแตกต่างกันเล็กน้อย อันนี้ GM1 อาจดีกว่า แต่อันนี้ เซซามินอาจดีกว่า ดังนั้นจะเห็นว่า เมื่อเราเอายอดอาหารและผลไม้ ดึงเอาแต่ส่วนดีๆ เข้ามาผสมกันก็จะเสริมฤทธิ์กัน ทั้งนี้ผลการทดสอบก็พบว่าเซซามินก็มีฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน ให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันสมดุลเช่นกัน
การดึงเอาผลไม้และพืชพรรณอีกสี่ชนิดมารวมกับ GM1 ให้ลงตัวนี้ทำได้ยากมาก ต้องใช้ความรู้ที่พิเศษมาก ต้องถือว่าอาจารย์พิเชษฐ์มีพรสวรรค์อย่างพิเศษถึงสามารดึงเอาพืชพรรณต่างๆ เข้ามาผสมกับ GM1 ได้ลงตัวอย่างนี้
ดิฉันคิดว่า อาจารย์พิเชษฐ์คงดูว่าพืชพรรณผลไม้แต่ละชนิด มีฤทธิ์อย่างไร ใกล้เคียงกับ GM1 หรือมีฤทธิ์พิเศษออกไปที่ GM1ไม่มี อย่างอาจารย์อาจมองว่าถ้าได้วิตามินซีจากฝรั่งมาช่วยสูตรนี้น่าจะดีขึ้น ถ้าเอาพวกไบโอฟลาวานอยจากต้นนี้มาช่วย ยิ่งควรจะดีมากขึ้น เรื่องนี้ทำได้ยาก ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าควรจะใช้พืชพรรณใดมาผสมเข้าด้วยกัน เราจะเห็นว่าสมัยโบราณหมอแผนไทยก็ได้ใช้ต้นไม้หลายชนิดผสมกัน ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าทำไมเอาต้นนี้มาผสมต้นนี้ แสดงว่านี่คือภูมิปัญญาของแต่ละคน ที่ได้คิดค้นและทดลองว่าต้นไม้แต่ละต้นนี้มีฤทธิ์อย่าไร ต้นนี้มีพิษน่าจะเอาอีกตัวหนึ่งมาแก้พิษ หรือเอามาลดฤทธิ์ข้างเคียง กว่าเขาจะได้สูตรลงตัวนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย บอกตามตรงว่าดิฉันนับถืออาจารย์พิเชษฐ์มาก ที่สามารถดึงต้นไม้ห้าชนิดนี้เข้ามารวมกันได้ โดยดึงจากสุดยอดของแต่ละชนิดมาเป็นสูตรที่ลงตัวได้
ครั้งแรกที่ดิฉันได้ฟังอาจารย์พิเชษฐ์พูดว่า สาร GM1 ถ้าใช้มากๆ และใช้นานๆ อาจมีผลต่อระบบประสาท เพราะฉะนั้นผมจะลดขนาดลง แต่ผมจะดึงเอาต้นไม้อื่นมาใส่ร่วม เพื่อให้เกิดการเสริมฤทธิ์ ดิฉันยังสงสัยอยู่ว่าแล้วอาจารย์จะไปเอาต้นอะไรมาใส่ เพราะยากมากที่จะไปควานหามา พออาจารย์พิเชษฐ์บอกส่วนผสม โอ้โห ต้นนี้ก็ยอด ต้นนั้นก็ยอด เป็นพืชพรรณดีๆ ทั้งนั้น ข้อสำคัญคือ พืชทุกชนิดเป็นอาหารที่คนเขากินอยู่แล้ว อาจารย์พิเชษฐ์เคยบอกว่าถ้าไม่ใช่อาหารจะไม่เอามาทำ เพราะเราเองยังสงสัยว่าจะปลอดภัยไหม แต่นี่คืออาหาร ความปลอดภัยมีแน่นอน
จุดเด่นของอาจารย์พิเชษฐ์
เท่าที่ดิฉันได้รู้จักและทำงานกับอาจารย์พิเชษฐ์มามากกว่า 30 ปี จุดเด่นของอาจารย์พิเชษฐ์ที่ดิฉันเห็น ถ้าใช้ภาษาชาวบ้านก็ต้องเรียกว่า “กัดไม่ปล่อย” อาจารย์จับงานไหนแล้วอาจารย์จะจดจ่อมั่นคงอยู่ในงานนั้นพยายามให้สำเร็จจนได้ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ อาจารย์เป็นคนฉลาดมากๆ ทั้งที่อาจารย์เป็นนักเคมีไม่ใช่นักเภสัชวิทยา แต่อาจารย์สามารถคิดสูตรอันลงตัวออกมาได้ สิ่งนี้ถือเป็นพรสวรรค์พิเศษจริงๆ จากแคปซูลการ์ซีเนีย อาจารย์สามารถปรับสูตรไปใช้เฉพาะในแต่ละโรคได้ อันนี้เป็นความลาดซึ่งตัวดิฉันเองในฐานะนักเภสัชวิทยายังคิดไม่ได้เท่าอาจารย์
การที่ดิฉันได้ทำงานร่วมกับอาจารย์พิเชษฐ์ นับว่าได้เรียนรู้จากอาจารย์พิเชษฐ์อย่างมาก สิ่งแรกคือ อาจารย์พิเชษฐ์เป็นคนดูแลเอาใจใส่ และให้เกียรติเพื่อร่วมงานดีมาก จะไม่เอาเปรียบ แต่จะเป็นผู้ให้ แม้แต่สูตรที่อาจารย์คิดขึ้นเอง พอจดลิขสิทธิ์แล้ว อาจารย์ใส่ชื่อพวกเราเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นเกียรติอย่างมาก เพราะสูตรนี้เราไม่ได้เป็นคนคิด แต่อาจารย์ถือว่าเราเป็นทีมงานของอาจารย์ อาจารย์ให้เกียรติเราตลอด อันนี้เป็นการร่วมงานอย่างราบรื่นมากๆ อย่างในกรณีที่เคยมีข้อโต้แย้งว่า ตรงนี้ไม่เหมาะสมเพราะเหตุนั้นเหตุนี้ แต่นั่นเป็นข้อโต้แย้งในทางวิชาการ ส่วนในความเป็นเพื่อนร่วมงานนั้น บรรยากาศดีมากๆ
สิ่งที่เรียนรู้คือ ดิฉันได้เรียนรู้ถึงวิธีการทำงาน ตลอดมาดิฉันเป็นนักวิชาการอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจะไม่รู้เรื่องธุรกิจเลย แต่อาจารย์พิเชษฐ์นอกจากจะเป็นนักวิชาการแล้ว ยังเป็นนักบริหารที่ดีด้วย อาจารย์มีวิธีการบริหาร เราจะเห็นว่า คนในบริษัทของอาจารย์ทุกคนเต็มใจทำงาน ทุกคนทำงานจนถึงมืดถึงค่ำอย่าเต็มใจ ซึ่งทำให้เรามองเห็นว่า อย่างนี้อาจารย์ต้องบริหารเก่งมากเลย ทุกคนถึงพร้อมที่จะช่วยเหลืออาจารย์ตลอดเวลา ดิฉันยังได้เรียนรู้ถึงหลักการที่ว่า ถ้าเรามีแล้วเราควรจะให้คนอื่น อาจารย์พิเชษฐ์เป็นคนแบบนั้น คืออาจารย์จะให้ เพราะว่าอาจารย์ไม่คิดว่า เธอเข้ามาช่วยฉันทำงานฉันตอบแทนเธอแค่นี้แล้วจบ แต่อาจารย์มีความเป็นเพื่อนอยู่ตลอดเวลา แล้วจะบอกกเราตลอดเวลาว่า มีอะไรให้อาจารย์ช่วยเหลือ อาจารย์ยินดีเสมอ
ข้อดีมากๆ ของอาจารย์พิเชษฐ์ที่เรายกย่องก็คือ อาจารย์ดูแลเอาใจใส่เพื่อร่วมงานและทีมงานอย่างดีมาก อาจารย์ที่ปักษ์ใต้สองท่านได้ร่วมงานกับอาจารย์พิเชษฐ์มาตั้งแต่เริ่มแรกประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว อย่างอาจารย์วิลาวัลย์และอาจารย์เสาวลักษณ์ จนแม้ระยะหลังอาจารย์พิเชษฐ์มาอยู่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ ถึงอย่างนั้นอาจารย์พิเชษฐ์ก็ยังไมเคยลืมเพื่อนร่วมงานที่ปักษ์ใต้ ดึงมาร่วมทีม Operation BIM อยู่ตลอดเวลาเพราะอาจารย์ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้เริ่มต้นบุกเบิกงานวิจัยมังคุดมาด้วยกัน ถ้าไม่มีเขาช่วยกันปูรากฐานมาก งานวิจัยมังคุดคงไม่ออกมาสำเร็จอย่างนี้
อีกคนหนึ่งที่อาจารย์พิเชษฐ์กล่าวถึงเสมอในเวลาที่อาจารย์ได้รับเชิญไปพูดที่ไหนก็ตาม อาจารย์มักจะพูดถึงลุงเขียว พัฒนจรินทร์ นักการภารโรงที่มหาวิทยาลับสงขลานครินทร์ ผู้ให้ความรู้กับอาจารย์พิเชษฐ์ถึงสรรพคุณของมังคุด ซึ่งอาจารย์พิเชษฐ์รู้สึกว่า ที่อาจารย์ประสบผลสำเร็จทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะลุงเขียว อีกทั้งอาจารย์ยังมีเพื่อนร่วมงานที่ดี อาจารย์ไม่เคยหลงลืมหรือทอดทิ้งใคร นี้คือข้อดีที่สุดของอาจารย์พิเชษฐ์
อีกอย่างที่ดิฉันประจักษ์ตลอดมาคือ อาจารย์พิเชษฐ์มีความกตัญญูอย่างมาก แม้แต่อาจารย์เก่าที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อาจารย์พิเชษฐ์ได้ดูแลเอาใจใส่อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ แล้วยังไม่ลืมเพื่อน เคยปฏิบัติต่อกันอย่างไร ตอนนี้ปฏิบัติต่อเพื่อนดียิ่งขึ้นไปอีก อีกอย่างคืออาจารย์พิเชษฐ์ไม่ใช่คนเจ้าอารมณ์ บางครั้งอาจจะหงุดหงิดนิดหน่อย แต่ดิฉันไม่เคยเห็นเขาโกรธเป็นคนใช้เหตุผลอย่างมากในการพิจารณาตัดสินใจเรื่องต่างๆ
คุณสมบัติของนักวิจัยที่ดี
ในมุมมองของดิฉัน คนที่จะเป็นนักวิจัยที่ดีได้ ควรมีคุณสมบัติข้อแรกคือ ต้องมีความรักในงานที่ทำอย่างมาก เพราะงานวิจัยจริงๆ แล้ว ถ้าจะดุในสองแง่มุม ด้านหนึ่งเป็นงานน่าเบื่อหน่าย มันยาวนานทำแล้วทำอีกไม่รู้ว่าเมื่อใดจะได้ผลหรือไม่ได้ผล แต่ในอีกด้านหนึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายอย่างมากกว่าสิ่งที่เราจะได้ออกมาคืออะไร เพราะฉะนั้นคนไหนที่รักในงานวิจัย เขาจะทำงานแบบมุ่งมั่น แบบกัดไม่ปล่อย แบบว่าจะต้องเอาผลออกมาให้ได้ ทั้งหมดก็คือ จำเป็นต้องมีคุณลักษณะเช่นนี้ถึงจะเป็นนักวิจัยที่ดีได้
ข้อสำคัญอีกอย่างนั้น การทำงานวิจัยหลายครั้งมันไม่ได้เสร็จสิ้นตามเวลาทำงาน สมัยก่อนดิฉันเองเคยทำงานถึงเที่ยงคืน ซึ่งเชื่อว่านักวิจัยทุกคนจะผ่านประสบการณ์แบบนี้ เมื่อทำการทดลองแล้วเห็นว่า เอ๊ะ ผลงานกำลังดีบางทีเราจะทำต่อไปเรื่องๆๆๆ จนไปเสร็จเอาหลังเที่ยงคืนก็ได้ บางครั้งอาจต้องห่างครอบครัว เราต้องคุยกับครอบครัวฟังให้เขาเข้าใจ ซึ่งอาจารย์พิเชษฐ์มีภรรยาที่ดีมาก อาจารย์อรุณีเข้าใจว่า งานวิจัยคืออะไร งานบริหารบริษัทเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ครอบครัวของอาจารย์พิเชษฐ์อยู่อย่างราบรื่นกลมกลืนกันมาก
นักวิจัยที่ดีต้องมุ่งมั่น ต้องทำอย่างจริงใจ และข้อสำคัญคือต้องรักในงานที่ทำ ต้องมองในแง่ที่ว่างานนี้มันท้าทาย แล้วเราจะตื่นเต้นกับผลที่เกิดขึ้น เวลาเราคอยผลวิจัย เราจะคอยด้วยความตื่นเต้นตลอดเวลาว่า มันจะออกหัวหรือออกก้อย?
อุปสรรคในการทำวิจัย
เท่าที่ผ่านมาทีมของเราเคยมีอุปสรรคในการทำงานวิจัยอยู่บ้างสมัยนี้อาจไม่มากเท่าใด แต่สมัยก่อนมีผลกระทบอย่างมาก เพราะแต่ก่อนคนมักมองกันว่า ถ้าเป็นนักวิชาการแล้วจะเป็นนักธุรกิจด้วยไม่ได้ จะถูกครหาเยอะแยะไปหมด บางทีแรงกระทบก็หนักไม่น้อย อย่างช่วงที่อาจารย์พิเชษ,เริ่มทำธุรกิจแล้วยังเป็นข้าราชการอยู่ เมื่ออาจารย์เริ่มทำสารสกัด GM1 ออกไปเป็นยาแก้สิว มีนักวิชาการหลายๆ คนทีเดียวที่บอกว่าอาจารย์พิเชษฐ์เป็นนักธุรกิจที่มาแฝงอยู่ในวิชาการ เขาใช้คำว่านักวิชาการหรือนักวิจัยโสเภณี ซึ่งแรงมาก เจ็บลึกมาก
เขาไม่ได้คิดในแง่มุมว่า นักวิชาการหรือนักวิจัยไทยทำวิจัยไปเพื่ออะไร เพื่อให้มีผลงานตีพิมพ์จะได้เอาไปขอตำแหน่งแค่นั้นหรือ เพื่อความก้าวหน้าของตัวเองเท่านั้นหรือ ทั้งที่งานวิจัยนี้ทำให้สิ้นเปลืองเงินงบประมาณของชาติอย่างมาก ทำไมจึงไม่คิดเอางานวิจัยออกมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สู่ท้องตลาดโลกให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ แล้วเก็บเงินเข้าประเทศ หรือไม่ให้เป็นรายได้ขึ้นมา ไม่เช่นนั้นทุ่มเงินวิจัยลงไป ก็เหมือนเอาเงินไปถมทะเลซึ่งไม่มีวันเต็มใช่ไหม
โดยปกติจริงๆ แล้ว ถ้าจะดูตัวอย่างจากต่างปะเทศ ไม่ว่ายาหรือผลิตภัณฑ์ กว่าจะออกมาได้ ต้องอาศัยงานวิจัยทั้งนั้นถึงค่อยออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ การ์ซีเนียแคปซูลนี้ก็เช่นกัน จริงๆ ควรจะออกมาเป็นยาแต่ในเมืองไทยนี้ การทำเป็นยาเป็นเรื่องลำบากมาก แล้วคิดดูเถอะ คนไทยที่เป็นข้าราชการมาตลอดชีวิตการทำงาน เขาจะเอาเงินที่ไหนไปลงทุนแล้วถ้าเราเดินไปหาบริษัทยา บอกว่าเรามีงานวิจัยอันนี้ คุณอยากผลิตออกมาไหม บริษัทต้องคิดแล้วว่า มันพูดจริงรึเปล่า ไม่มีบริษัทไหนรับทำหรอกเพราะฉะนั้นอันนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมอาจารย์พิเชษฐ์ถึงต้องตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อที่จะทำผลงานของตัวเองออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจารย์พิเชษฐ์ก็ทำไปพักหนึ่ง ด้วยความเจ็บอกเจ็บใจ ถ้าจะพูดให้ชัดที่สุดก็คือ ทำไปด้วยความน้อยใจมากกว่า ซึ่งอันนี้ดิฉันบอกตรงๆ ว่าเห็นใจมากๆ ตอนหลังอาจารย์พิเชษฐ์จึงต้องลาออกจากราชการเพื่อไปเป็นนักธรกิจเต็มตัว
แต่ขณะเดียวกันเมื่อทำธุรกิจอาจารย์พิเชษฐ์ยังต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่พักหนึ่ง ตอนนั้นถือว่ารุนแรงอยู่มาก เหมือนที่ภรรยาอาจารย์พิเชษฐ์เคยพูดว่า ต้องเก็บแม้แต่เหรียญสลึง ต้องเป็นหนี้เป็นสินล้มลุกคลุกคลาน แต่ก็ฝ่าวิกฤติมาได้ ด้วยผลิตภัณฑ์ส้มแขกที่ทำออกมา ซึ่งอาจารย์พิเชษฐ์ก็พิสูจน์ให้สังคมเห็นชัดว่า ส้มแขกสามารถสลายไขมันได้อย่างไร ป้องกันการเกิดไขมันสะสมได้อย่างไร ซึ่งสามารถอธิบายได้ชัดเจนแจ่มแจ้งก็เพราะมีงานวิจัยรองรับอยู่แล้ว ถึงทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้
โดยธรรมชาติแล้วทุกคนกลัวอ้วนใช่ไหม เพราะเหตุนี้ผลิตภัณฑ์ส้มแขกถึงได้กู้วิกฤติของอาจารย์พิเชษฐ์ขึ้นมา แล้วพออาจารย์พิเชษฐ์มีเงินปุ๊บเขาก็ให้ทุนนักวิจัยในมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดการร่วมงานกับเขา นักวิชาการก็มีเงินทำวิจัย แล้วผลงานที่วิจัยออกมาก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตรงนี้ถ้ามองให้ดีๆ ทุกวันนี้หากรัฐบาลหรือองค์กรใดก็ตาม ให้ทุนวิจัย แล้วได้แค่ผลวิจัยตีพิมพ์ออกมาในวารสารวิชาการสักหนึ่งหรือสองฉบับนั้น ดุจะไม่คุ้มค่าดิฉันได้เห็นการทำวิจัยไปทั่ว ทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ แต่เสร็จออกมาแล้วกลับเอาไปซุกในตู้หนังสือ ทำอะไรไม่ได้เลย ถ้ายังเป็นแค่งานวิจัยมันไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครสนใจ คือถ้าไม่ปรับไม่ทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ งานวิจัยนั้นแทบจะไม่มีความหมายใดๆ เลย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐก็กำลังพยายามเอาผลงานวิจัยต่างๆ ไปนำเสนอให้เอกชนนำไปใช้เพื่อทำผลิตภัณฑ์ออกมาต่อไป แต่จะสำเร็จหรือไม่ยังไม่แน่
อาจารย์พิเชษฐ์อาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่ทำเช่นนี้ซึ่งตอนหลังได้มีการเชิญอาจารย์พิเชษฐ์ไปพูดตามสถาบันต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นหัวข้อ “จากห้องปฏิบัติการสู่ตลาดโลก” ว่าต้องทำอย่างไร ตอนแรกๆ นี้เอาแค่ตลาดเมืองไทยก่อนเถอะ อย่างเพิ่งไปถึงตลาดโลกเลย แต่อาจารย์พิเชษฐ์เขาไปถึงตลาดโลกแล้ว มีหลายสถาบันเชิญไปบรรยาย อย่างมหาวิทยาลัยก็มีทั้งที่เชียงใหม่ สงขลา มหิดล ฯลฯ หรือองค์กรต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขก็เคยเชิญไปพูด
เวลาอาจารย์พิเชษฐ์ได้รับเชิญไปบรรยาย มักจะยกทีมงานไปด้วยตรงนี้ดิฉันถือเป็นเกียรติอย่างมาก จริงๆ บางครั้งเวลาไปกับอาจารย์ ดิฉันยังนึกอยู่ว่าเราจะไปพูดอะไรล่ะ อาจารย์พิเชษฐ์รู้หมดแล้วสามารถพูดได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะอาจารย์เป็นคนเรียนรู้เร็ว แม้อาจารย์ไม่ได้อยู่ใน field ที่ดิฉันหรืออาจารย์ปรัชญาทำงานโดยตรง แต่อาจารย์พิเชษฐ์ศึกษามากระทั่งสามารถพูดได้อย่างถูกต้องทุกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นอาจารย์ก็ยังเชิญทีมพวกเราไป เพื่อให้เกียรติเราว่า นี่คือทีมงานทั้งหมดที่ทำมาร่วมกัน
Operation BIM
ในส่วนของ Operation BIM ที่เรามาร่วมกันทำการ์ซีเนีย หรือทำอะไรอย่างอื่นอยู่ทุกวันนี้ ดิฉันเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะสำคัญมากในอนาคตเพราะคนทั่วโลกย่อมอยากจะป้องกันโรคและดูแลตัวเองให้อยู่ดี แม้กระทั่ง WHO ยังบอกว่า ทำไมเราต้องปล่อยให้ตัวเองเกิดโรคก่อน แล้วค่อยเอาสารเคมีมารักษา ทำไมเราไม่หาวิธีป้องกันตัวเองก่อนที่จะเกิดโรค เพราะฉะนั้นมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากอเมริกาบูมมากๆ คนไทยกินอาหารเสริมกันอุตลุด และเริ่มมีการออกกำลังกายกันอย่างแพร่หลาย
แต่สำหรับ Operation BIM นี้ถือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ก่อให้เกิดภาวะสมดุลของภูมิคุ้มกัน คือทำให้ร่างกายพร้อมต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาสู่และทำอันตรายต่อร่างกายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะมีความสำคัญมากแค่ไหนในอนาคตดิฉันยังไม่รู้ แต่เห็นว่าเป็นแนวโน้มที่จะสำคัญมากๆ เพราะเคยพบข้อมูลในอินเทอร์เน็ตหลายแห่ง มีการตั้งคำถามตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมจึงไม่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราอยู่ในสภาวะที่ดี เกิดภาวะสมดุล อย่างที่เรียกว่า Balancing Immune เพราะถ้าเกิดภาวะอย่างนี้แล้ว ไม่ว่าโรคอะไรเข้ามาร่างกายจะสามารถจัดการได้หมด เพราะฉะนั้นคิดว่าแนวโน้มลักษณะนี้ จะเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในอนาคต ซึ่งทุกคนจะพยายามหาสารหรืออาหารที่จะทำให้เกิดภาวะสมดุลของภูมิคุ้มกัน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ
หากเข้าไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับ Balancing Immune เราจะเจอเรื่องเหล่านี้มาก เขาจะมีข้อแนะนำว่า สิ่งที่ควรทำก็คือทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีหรือสมดุล การจะทำให้เกิดภาวะนี้ได้ ร่างกายต้องได้รับพืชผักผลไม้ รับอาหารครบหมู่ เพราะในพืชผักจะมีสารต่างๆ หลายชนิด แต่เราต้องเลือกพืชผักให้ถูกชนิดด้วย อะไรก็ตามที่เป็นอาหาร กินกันมายาวนานมักไม่ค่อยเป็นอันตราย เพราะฉะนั้นสิ่งไหนก็ตามที่เราผลิตขึ้นจากอาหารที่มีอยู่แล้วย่อมปลอดภัย และถ้าทำให้ภูมิคุ้มกันสมดุลได้จะยิ่งสำคัญมากในอนาคต
ดิฉันถือว่า การค้นพบ Operation BIM เป็นสิ่งสุดยอด ทีมเราเป็นทีมแรกของโลกที่ค้นพบสิ่งนี้
และในเมื่อเป็นสิ่งที่สุดยอดแล้ว จากนี้ไปเราจะต้องศึกษาทดลองกันอีกมาก จะเห็นว่าจากที่เราได้แคปซูลออกมา เพื่อจะเอาไปใช้ในภาวะข้ออักเสบ ตอนนี้มันขยายออกไปใช้ได้กับอีกหลายภาวะของโรค เพราะฉะนั้นไม่แน่ว่าต่อไปเราจะเจออะไรอีกบ้าง เพราะมีสมุนไพรไทยอีกมากมายมหาศาลที่อ้างว่ามีคุรภาพอย่างนั้นอย่างนี้โดยที่ยังไม่มีการพิสูจน์ เราคิดว่าน่าจะมีคนทำต่อ ทีมเราอาจไม่ได้ทำก็ได้ หรืออาจจะทำเองก็ได้ เพราะตอนนี้ทางอาจารย์ปรัชญาได้เริ่มศึกษามะรุมแล้ว และได้พบว่าเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอย่างมาก ซึ่งพอเราประกาศอันนี้ออกไป เราคิดว่านักวิจัยไทย หรือนักวิจัยทั่วโลกน่าจะหันมาสนใจด้านนี้มากขึ้น อาจจะค้นพบอาหารอีกหลากหลายชนิดที่ให้ผลเช่นเดียวกันนี้
อาจารย์พิเชษฐ์ : นักวิจัยหรือนักธุรกิจ?
ดิฉันมองเห็นอาจารย์พิเชษฐ์เป็นทั้งนักวิจัยและนักธุรกิจเท่าๆ กัน อาจารย์เป็นนักวิจัยจริงๆ เต็มร้อย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นนักธุรกิจเต็มร้อยเหมือนกัน หาคนลักษณะนี้ได้ยากมาก นั่นทำให้ธุรกิจของอาจารย์มีพื้นฐานมาจากวิทยาศาสตร์ มีงานวิจัยเข้าไปยืนยันหรือสนับสนุนตลอดเวลา อาจารย์พิเชษฐ์ไม่ใช่นักธุรกิจแบบที่ไม่มีผลงานวิทยาศาสตร์พิสูจน์ แล้วไปโม้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ใช้ได้อย่างนี้ ทุกผลิตภัณฑ์ที่ออกมาไม่เคยเกินความจริงนี่คือข้อดีของอาจารย์พิเชษฐ์ เขาจะให้เราทดสอบก่อน ทำวิจัยก่อน ได้ผลงานออกมาแล้วถึงจะบอกว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะไม่พูดก่อน หรือพูดเกินความจริงเป็นอันขาด
ข้อดีอีกอย่างของอาจารย์พิเชษฐ์ก็คือ เวลาเขาเชิญเราไปพูด เขาจะให้เราพูดในฐานะนักวิชาการ ไม่ใช่นักธุรกิจ เพราะเราไม่ใช่นักธุรกิจ เราจะไปเสริมเขาในแง่วิชาการเท่านั้น ส่วนธุรกิจเป็นเรื่องของอาจารย์พิเชษฐกับทีมงานบริษัทของเขา |